สวัสดี

หลัง ๆ มานี้ยอมรับตรง ๆ เลยว่าขี้เกียจมานั่งเขียนบล็อกม๊ากกกกกกก เอาเวลาไปหากิจกรรมอะไรทำต่าง ๆ มากมายครับ หนึ่งในนั้นคือการที่ได้ไปขุดเอากล้องฟิล์ม compact เก่าเก็บ อายุประมาณ 15 ปี ที่เคยเก็บเงินซื้อตอนเด็ก ๆ มาถ่ายเล่น ทำให้ได้กลับมาเล่นกล้องฟิล์ม การถ่ายรูปด้วยฟิล์มอีกครั้ง รอบนี้ก็ถลำลึกไปเยอะ

รูปจากกล้อง Fuji Clear Shot 30 DATE 35mm

หลายคนที่ถ่ายรูปด้วยกล้องฟิล์มจะรู้กันว่าในการจะได้รูปจากฟิล์มออกมานั้น ต้องนำฟิล์มไปผ่านกระบวนการ developing เพื่อให้ได้ภาพออกมา ปกติก็จะส่ง Lab ให้ทำกระบวนการ ล้างฟิล์มให้ออกมา แล้วนำไปแสกน หรือ พิมพ์ออกมาต่อไป

อุปกรณ์ที่ต้องใช้

  • ฟิล์มที่ถ่ายจนหมดม้วนแล้ว (ในที่นี้เป็นฟิล์ม 120)
  • ถุงถอดฟิล์ม (Darkroom bag, Film changing bag) หน้าตาจะคล้าย ๆ เสื้อ
  • กรรไกร (ไว้ตัดฟิล์มออกจากกรัก หรือตัดเทปที่ติดกระดาษกับฟิล์มใน 120)
  • ถังล้างฟิล์ม อันนี้ใช้ของ Paterson
  • น้ำยาสร้างภาพ (Develop) D76
  • น้ำยาคงสภาพ (Fixer)
  • เทอโมมิเตอร์
  • ถ้วยตวง
  • wetting agent

มาเริ่มกันดีกว่า

เริ่มจากเราต้องเอา อุปกรณ์เข้าไปในถุงเปลี่ยนฟิล์มก่อนครับ อย่าลืมอะไรนะ เริ่มสอดแขน แกะฟิล์มแล้วนี่จบเลย เอาอะไรเข้าไปไม่ได้เลยนะ

อุปกรณ์ที่เอายัดถุุง

ถอดฟิล์มเอาเข้า Reel ไปครับ ที่ใช้เป็น Reel แบบพลาสติกปรับขนาดได้ แบบใช้ล้างฟิล์ม 135 หรือ 120 ก็ได้ วิธีโหลดฟิล์มก็คือใส่แผ่นฟิล์มเข้าไปตรงเขี้ยว Reel ละหมุน ๆ เข้าไป หาเป็นคลิปดูได้ใน YouTube มีเยอะแยะ

ขั้นตอนการ นำฟิล์มเข้า Reel นี่ต้องทำในห้องมืด หรือถุงเปลี่ยนฟิล์มนะ โดนแสงนี่จบเลยนะ

หลังจากเอาฟิล์มเข้า Reel เสร็จก็ใส่เข้า ถังล้างปิดล็อกถัง ทีนี้ก็นำออกมาจากถุงเปลี่ยนฟิล์มได้ละ

ฟิล์ม 120 จะเป็นเทปกาวกระดาษแปะตัวแผ่นฟิล์มกับกระดาษ ไม่จำเป็นต้องเอากรรไกรเข้าไปด้วยก็ได้ แต่ถ้าเป็นฟิล์ม 135 ต้องใช้กรรไกรตัดฟิล์มออกมาจากแกนด้วย และถ้าไม่ได้ดึงลิ้นฟิล์มออกมาจากกรัก ต้องเอาพวกที่เปิดขวดเข้าไปงัด ฝากรักฟิล์มออกด้วย

ต่อมาก็ต้องเตรียมน้ำยา ที่จะใช้ล้าง อัตราส่วนกับเวลา ดูได้จาก https://www.digitaltruth.com/devchart.php ของอันนี้ล้างฟิล์ม 120 ตัว Ilford HP5 400

ตารางจาก Massive Dev Chart ของ Ilford HP5+ ที่ ISO 400

จากตาราง ผมเลือกใช้อัตราส่วน 1+3 (น้ำยา 1 ส่วน น้ำสะอาด 3 ส่วน) เพื่อประหยัดน้ำยา ตัว D76 เป็นน้ำยาแบบที่ใช้แล้วทิ้ง ที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส เวลา 20 นาที ตัวถังล้างใช้น้ำยาประมาณ 500 มิลลิลิตร สำหรับการล้างฟิล์ม 120 จำนวน 1 ม้วน เลยจะเป็น น้ำยา 125 มิลลิลิตร ผสมน้ำสะอาด 375 มิลลิลิตร

ทีนี้เราก็ต้องเตรียมน้ำยาคงสภาพฟิล์มด้วย (Fixer) ช่วยให้ฟิล์มคงสภาพได้ยาวนาน ตามสูตรก็เป็น 1+3 เหมือนกัน อันนี้แล้วแต่ประเภท Fixer ของผมใช้ผสม 1+3 เวลา 3 นาที ที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส

ปรับอุณหภูมิน้ำยา และ ถังล้าง

ก่อนจะทำการล้างก็เตรียมอุณหภูมิของน้ำยา และถังล้างให้ได้ตามที่เราจะใช้ ทางนี้ใช้ 20 องศาเซลเซียส ก็แช่น้ำยากในถังน้ำ แล้วคอยหล่อน้ำแข็งไว้ให้ได้อุณหภูมิ ใช้เวลาสักหน่อย แต่การที่ล้างที่อุณหภูมิเย็น ๆ มันทำงานง่ายพอสมควรครับ

พอได้อุณหภูมิ ก็ทำการเทน้ำยาสร้างภาพ (Develop) ลงไปในถังปิดฝา จับเวลา 20 นาที เขย่า 15 วินาที แล้วเคาะถังลงพื้นสักทีเพื่อไล่ฟองอากาศ วางไว้ ทำอย่างงี้ทุก ๆ นาที จนถึงเวลาที่เราโอเค ผมผสมน้ำยา D76 น้อยกว่าอัตราส่วนนิดหน่อย เลยเลือกที่จะเพิ่มเวลาไปเป็น 22 นาที

เขย่าดิคุณณณณณ (กลับถัง ขึ้นลง)

พอครบเวลาแล้วต่อมาจะเป็นกระบวนการหยุดภาพ คือหยุดการสร้างภาพของน้ำยา อันนี้จะใช้น้ำยาหยุดภาพ (Stop) ผมเลือกที่จะไม่ใช้ แล้วใช้การล้างน้ำ 3 รอบแทน เหมือนกันการเขย่าน้ำยา คือเติมน้ำ เขย่า พัก เทออก แล้วทำจนครบ 3 ครั้ง

จากนั้นจะเป็นการใช้น้ำยาคงสภาพตัวฟิล์มให้เก็บไว้ได้นาน ใส่น้ำยา Fixer ที่เราเตรียมไว้ เขย่า วางพัก วนจนครบ 3 นาที แล้วเทใส่ภาชนะไว้ น้ำยาผสมแล้วใช้ซ้ำได้ประมาณ 3 ครั้ง โดยต้องบวกเวลาเพื่อม 2 นาที แล้วแต่ประเภทน้ำยา

เขย่าล้างน้ำอีกสัก 3 ครั้ง แล้วก็เปิดน้ำใส่ถังให้น้ำไหลผ่านสัก 3 นาที จากนั้นใส่ wetting agent ลงไป (ถ้ามี) เขย่า แล้วเทออก จากนั้นหนีบฟิล์มไว้กับราวตาก แล้วใช้ฟองน้ำสำหรับเช็ดรีดน้ำฟิล์มออก หรือคลาสสิก ๆ หน่อยก็ใช้นิ้วหนีบแล้วรูดจากบนลงล่าง

แขวนไว้ แล้วเดียวรีดน้ำออก
ฟองน้ำเนื้อละเอียดสำหรับเช็ดฟิล์ม น่าจะเป็นแบบเดียวกับฟองน้ำที่ไว้เสียบดอกไม้สด

นำฟิล์มไปตากในที่ ที่มีฝุ่นน้อย ผมใช้ห้องน้ำนี่แหละ ราวในห้องน้ำยาวไม่พอที่จะตากฟิล์มทั้งแผ่น เลยตัดก่อนตากไว้สัก 2 ชั่วโมง ก็แห้งแล้ว ตอนที่ตากไว้แนะนำให้ปิดประตู อย่าใช้ห้องน้ำตอนนั้น กันฝุ่นจากอากาศข้างนอกเข้าไป

ตัดแบ่ง ตากไว้ จะได้ไม่แตะพื้นห้องน้ำ

พอแห้งแล้วเอาเข้าซองพลาสติกเก็บฟิล์มเป็นอันเสร็จ รอนำไปแสกน หรือ ปริ้น ต่อไป

ใส่ซอง รอเอาไปสแกนอีกที

สรุป

การล้างฟิล์มเองมันสนุกมากครับ สามารถควบคุมคุณภาพได้เอง ถ้าจะต้องมีการ Push หรือ ​Pull เราก็สามารถ เพิ่ม หรือลดเวลาได้เองเลย ไม่ต้องรอนาน แต่ก็ใช้เวลาในการทำพอสมควรเหมือนกัน ใครที่อยากจะลองล้างฟิล์มด้วยตัวเอง เริ่มจากการค่อย ๆ ซื้ออุปกรณ์มาทีละอย่างก็ได้ครับ นี่ก็ค่อย ๆ ซื้อมาประมาณ 2 เดือนได้ ถึงมีอุปกรณ์พร้อมที่จะล้างด้วยตัวเอง

ต้ังใจเขียนให้เสร็จตอนรอฟิล์มแห้ง สรุปฟิล์มแห้ง ยังเขียนไม่เสร็จ ต้องมาเขียนต่อทีหลัง 55555

Leave a comment

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

%d bloggers like this: