วันนี้ อยากจะพูดเรื่องการเก็บออมเงินกันสักหน่อย โพสต์นี้ น่าจะเหมาะกับเด็กจบใหม่พึ่งทำงาน มีเงินเดือน หรือ กำลังมีความคิดอยากออมเงิน

สิ่งที่ต้องมีสำหรับการเริ่มออมเงิน

  • เงิน (ก็แหงสิวะ!)
  • มีความตั้งใจจริงที่จะออมเงิน
  • มีระเบียบวินัยในตัวเอง

ในการออมเงิน สิ่งที่ผมคิดว่าทำให้พลาดมากที่สุด คือเรื่องวินัย ไม่ใช่แค่วินัยในการใช้เงินเท่านั้น วินัยในการที่เราจะทำการลงบัญชีหรือจดบันทึกนั้น เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ทำให้เราได้เห็นว่า เงินของเรานั้นมันไปที่ไหนบ้าง

ทริคการในออมเงิน

  • จดบันทึกรายรับรายจ่ายทุกครั้ง อัพเดททุกวันเลยิ่งดี เพราะจะได้ป้องกันการลืมบันทึก ทำให้เป็นนิสัยไปเลยครับ
  • แบ่งส่วนจากเงินเดือนของเราเป็นเงินเก็บ ของผมจะประมาณ 20-30% ต่อเดือน (ทำงบประมาณกับเงินเก็บไว้ด้วยนะ จะได้รู้ว่า ณ ตอนนั้น เรามีเงินออมอยู่เท่าไร)
  • เงินส่วนที่เหลือจากเงินออม ก็แบ่งเป็น งบประมาณ สำหรับทำกิจกรรม กิจวัตประจำวัน ต่าง ๆ
  • ในตอนแรก เราอาจจะยังไม่รู้ว่าเดือนนึงใช้จ่ายประมาณเท่าไร ให้ประมาณไปก่อน หรือ จะใช้การลงบันทึกไปก่อนเดือนนึงเราจะเห็นภาพรวมของงบประมาณที่เราจะทำ
  • ไม่ไปแตะเงินออมที่มีเก็บไว้
  • ลงทุน (อันนี้แล้วแต่คน ต้องหาอันที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ตัวเองนะ)

การทำงบประมาณ

ในการทำงบประมาณ อันนี้หลัก ๆ จะแบ่งเป็น ประเภทค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไป หรือเราอยากจะมีงบไว้สำหรับทำกิจกรรมอะไรก็ใส่ไว้ แล้วค่อย ๆ แบ่งเงินให้กองงบประมาณนั้นทุกเดือน สำหรับผม แนะนำว่าทำเป็น ประเภทใหญ่ ๆ อย่าซอยละเอียดจนเกินจำเป็น มันจะจัดการยากขึ้นเยอะเลย เคยทำแบบระดับที่แยกมื้ออาหาร ซึ่งพอปลาย ๆ เดือนนี่โยกงบกันมันเลย ค่อนข้างเสียเวลาครับ

ส่วนตัวแล้ว (ในปัจจุบัน) จะแบ่ง งบประมาณเป็น

  1. ค่าอาหาร
  2. ค่าเดินทาง
  3. ค่ารักษาพยาบาล
  4. เงินสำหรับเที่ยว
  5. เงินสำหรับครอบครัว
  6. เงินสำหรับค่าเช่าเซิฟเวอร์
  7. ค่าโทรศัพท์
  8. เงินเก็บ เงินลงทุน
  9. Fun Money (เงินใช้เพื่อความบันเทิง)
  10. อื่น ๆ (สำหรับอะไรที่ไม่ได้เข้าประเภทงบ)

ในการตั้งงบประมาณ นี่สามารถเพิ่มลดได้ ให้เหมาะกับวิถีชีวิตของคนทำ

สิ่งต่อมาที่เราต้องทำคือการทำบัญชีรายรับรายจ่าย ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงลำบากหน่อย ต้องจดบันทึกมากมาย แต่เดียวนี้เราก็มีตัวเลือกเข้ามาช่วยงานตรงนี้มากมาย เช่นพวก Application ทำบัญชีทั้งหลาย

Application ที่แนะนำสำหรับการทำบัญชีรายรับรายจ่าย

YNAB (You Need A Budget)

  • ข้อดี
    • มีแอพลิเคชัน ในทุก Platform
    • ใช้งานได้ง่าย
    • มีระบบการทำ Budget ที่เราตั้ง Limit ไว้ เหลือก็ทบต่อไป โยกย้ายเงินข้าม Budget ได้
    • นักศึกษาสามารถติดต่อไปขอสิทธิ์ใช้ฟรี 1 ปี ได้
    • เชื่อมต่อกับบัญชีธนาคารได้
  • ข้อเสีย
    • แพง สัส สัส

Spendee (ปัจจุบัน ผู้เขียนใช้อันนี้)

  • ข้อดี
    • ฟรี (แบบจำกัด Feature) อันนี้ข้อจำกัดหนัก ๆ คือทำ งบประมาณได้อันเดียว ถ้าใช้ดูค่าใช้จ่ายรวมก็โอเคอยู่
    • ราคาค่าบริการถูกกว่า แบ่งแพลนเป็น Plus/Premium (14.99$/22.99$) ต่างกันตรง Plus จะ Sync กับบัญชีธนาคารไม่ได้
    • เชื่อมต่อบัญชีธนาคารได้สำหรับ Premium ณ ตอนนี้ รองรับ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และ ธนาคารทหารไทย
    • ทำงบประมาณได้
    • บางทีก็มีโปรโมชั่น ขาย Premium แบบ Lifetime subscription (ตอนนี้ใช้อันนี้อยู่)
  • ข้อเสีย
    • ตัวงบประมาณไม่ได้ทบยอดแบบ YNAB แต่จะเป็นเหมือนการตั้งลิมิตไว้ ครบเดือนก็รีเซ็ต
    • มี Change บ่อยมาก ล่าสุดก็เอา Location ออกไปเลย
    • App มีบั๊กบ่อย ๆ (เดียวนี้ดีขึ้นเยอะ Android)
    • ไม่มี API

Google Sheet

  • ข้อดี
    • ฟรี
    • Custom ได้เยอะ เขียนสูตร excel กันเพลิน ๆ หรือจะเขียนต่อ API อะไรก็แล้วแต่ ยืดหยุ่นพอสมควร
  • ข้อเสีย
    • อาจจะยุ่งยากสำหรับคนที่ไม่คุ้นชินกับการทำงานกับ spreadsheet
    • ลงบันทึก transaction ได้ไม่สะดวกเท่าที่ควร

แล้วปัจจุบัน ใช้แบบไหนละ

วิธีนี้คนที่ทำตามอย่างน้อยต้องสามารถเขียนสูตร ใน Spreadsheet หรือ Excel ได้ในระดับนึงนะครับ

จากตอนเริ่มแรกผมใช้ YNAB มาตลอด แต่หลังจากผ่านการใช้งานมาสักปีนึง ก็ไม่ได้ต่อ Subscription ต่อ เพราะราคามันค่อนข้างสูงมาก ๆ สิ่งที่ทำในปัจจุบัน จะเป็น

  • บันทึกรายรับรายจ่ายผ่านแอป Spendee
  • ทำบัญชี ตั้งงบประมาณไว้ใน Google Sheet โดยที่คอยอัพเดทเป็นรายเดือน เดือนละครั้ง โดยอัพเดทว่า เดือนนั้นเรามีรายได้เท่าไร แล้วเอารายจ่ายของเดือนที่แล้ว (ดูจากรายจ่ายของงบ แต่ละอย่างใน Spendee) มาหักลบงบเดือนที่แล้วก่อน จะได้งบประมาณที่เหลือ ค่อยบวกด้วยงบประมาณของเดือนใหม่
  • อัพเดทงบประมาณเข้าไปใน Spendee ทำเดือนละครั้ง

โดยสรุปในวิธีการเก็บเงินหรือลงทุนของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกันไป โพสต์นี้หวังจะเป็นทางเลือก และเสนอวิธีการออมเงิน และการทำบัญชี ในส่วนของเรื่องอัตราส่วนว่าจะเก็บเท่าไร ใช้เท่าไร อันนี้มันอยู่ที่แต่ละคนเองว่าสบายใจหรือสะดวกกันขนาดไหน ต้องค่อย ๆ ปรับให้เจอกับจุดโอเคของแต่ละคนเอง

สุดท้ายนี้ก็หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์กับคนที่กำลังมีความคิดที่จะเก็บออมเงินไม่มากก็น้อยนะครับ 🙂

Leave a comment

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

%d bloggers like this: